วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

การดูแลถนอมดวงตา

ดวงตาเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้า  รับหน้าที่หลักคือทำให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัว  เราทุกคนมีดวงตาคนละสองดวงสำหรับใช้งานไปตลอดชีวิต  เราคงอยากใช้ดวงตาของเรามองเห็นได้ดีไปให้นานที่สุด  ดังนั้น การถนอมดวงตาเป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่อาจมองข้ามไปได้  คำถามคำตอบต่อไปนี้ จะช่วยเราให้สามารถปฏิบัติตัวได้ดี
• ข้อควรปฏิบัติในการดูแลสุขภาพดวงตา
     1. หมั่นรับการตรวจตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์
        - สำหรับเด็ก ควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยในช่วงอายุ 3-5 ขวบก่อนเข้าโรงเรียน  และหลังจากนั้นเป็นประจำในแต่ละช่วงระดับชั้น  หรือเมื่อมีปัญหาเรื่องมองเห็นไม่ชัดซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสายตา
        - สำหรับผู้สูงอายุ เกิน 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาปีละ 1 ครั้ง
        - ในกรณีพิเศษที่ต้องได้รับการตรวจตาบ่อยขึ้น ได้แก่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัว เช่น ต้อหิน มะเร็งจอประสาทตา เป็นต้น
     2. ควรสวมแว่นกันแดดเป็นประจำเมื่อออกแดดหรือต้องใช้สายตาในที่มีแสงมากเพื่อป้องกันโรคตาบางชนิด (ดูเรื่องการเลือกแว่น)
     3. ควรสวมแว่นป้องกันการกระแทก (protective eye glass) เมื่อต้องทำงานประกอบอาชีพบางชนิด หรือเล่นกีฬาบางอย่าง (ดูเรื่องการเลือกแว่น)
     4. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างครบถ้วน (ดูเรื่องอาหารกับดวงตา)
• การเลือกแว่น
         เราควรสวมแว่นไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว  แต่เพราะการสวมแว่นที่เหมาะสม  สามารถทำให้เรามีสุขภาพดวงตาที่ดี และยังป้องกันการสูญเสียดวงตาที่เรารักได้อีก แว่นที่ควรสวมมีดังนี้
     1. แว่นกันแดด
     2. แว่นป้องกันดวงตา

 แว่นกันแดด• ทำไมจึงต้องสวมแว่นกันแดด
        ปัจจุบันเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า แสงแดดโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ต (ultraviolet-UV) มีผลต่อดวงตาในระยะยาว จะทำให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของดวงตา ตั้งแต่ชั้นนอกสุดไปจนถึงชั้นในสุด โรคตาที่เกิดจากการทำลายของแสงได้แก่ ต้อลม ต้อเนื้อ กระจกตาเป็นฝ้า ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและมีแสงแดดตลอดทั้งปี  ดังนั้น ควรสวมแว่นกันแดดไว้เมื่อออกจากบ้าน  ไม่เพียงเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องสวม  แต่ควรสวมแว่นให้เด็กด้วย
    รูปแสดงคลื่นแสงที่มองเห็น (Visible Light) และแสงอัลตราไวโอเล็ต (Ultraviolet light) ที่อันตรายต่อดวงตา

• เคล็ดลับในการเลือกแว่นกันแดด
       - แว่นที่ดีควรกันแสง UV-A และ UV-B อย่างน้อย 99-100 เปอร์เซ็นต์ และกันแสงทั่วไปได้อย่างน้อย 75-90 เปอร์เซ็นต์
       - แว่นชนิด polarizing filter สามารถให้ภาพที่คมชัดขึ้นและป้องกันแสงได้ดี
       - อย่าเลือกแว่นราคาถูก เพราะอาจมีคุณภาพไม่ดี ไม่สามารถกรองแสงได้
       - อย่าเชื่อสติกเกอร์ที่ติดไว้ข้างแว่น หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาช่างแว่นที่ไว้ใจได้ ร้านแว่นบางร้านจะมีเครื่องเช็คเปอร์เซ็นต์การกรองแสง UV ซึ่งสามารถขอเช็คซ้ำได้
       - สวมแว่นกันแดดแล้วส่องกระจก หากคุณสามารถมองเห็นดวงตาของคุณเองผ่านเลนส์ แสดงว่า เลนส์อาจไม่เข้มพอที่จะกรองแสงได้
       - หากใช้แว่นสี ควรเลือกสีโทน เทา น้ำตาล หรือเขียว เพื่อให้สามารถมองเห็นสีได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ผิดเพี้ยน อย่าเลือกสีแดง น้ำเงิน เพราะอาจทำให้แสงความยาวคลื่นที่อันตรายสามารถผ่านเข้าสู่ดวงตาได้
       - เช็คคุณภาพของเลนส์โดยถือเลนส์ในระยะห่างเท่าความยาวของแขน มองผ่านเลนส์ไปยังวัตถุไกลออกไปที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตู เสา แล้วลองเคลื่อนเลนส์ผ่านเส้นตรงที่เห็น หากมองเห็นเส้นบิดเบี้ยวไปมา แสดงว่าเนื้อเลนส์ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้คุณภาพ
ภาพแสดงชนิดต่างๆของแว่นกันแดด


แว่นป้องกันดวงตา• ทำไมจึงต้องสวมแว่นป้องกันดวงตา
เนื่องจากในแต่ละปี อุบัติเหตุกับดวงตาที่เกิดจาก งานบ้าน การปฏิบัติงานที่ทำงาน หรือจากการกีฬานั้นพบได้มาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร ดังนั้น การสวมแว่นป้องกันดวงตาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
• งานชนิดไหนบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา
       - งานบ้านเช่น งานไม้ ตอกตะปู การใช้เครื่องตัดหญ้า มีความเสี่ยงที่วัตถุชิ้นเล็กจะกระเด็นด้วยความเร็ว และความแรงเข้ามาในดวงตา
       - งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมี กรด ด่าง
       - งานที่เกี่ยวข้องกับคลื่นแสงอันตราย เช่น งานเชื่อมโลหะ อุตสาหกรรมที่มีการใช้เลเซอร์ หรือรังสีต่างๆ
       - การเล่นกีฬาบางชนิดที่อุปกรณ์ที่เล่นอาจเข้ามาชนดวงตาได้ เช่น เทนนิส สควอช แบดมินตัน กอล์ฟ ฮอคกี้ เบสบอล



ภาพแสดงแว่นป้องกันชนิดต่างๆ
• จะป้องกันได้อย่างไร
       - ระวังจะเกิดอุบัติเหตุซึ่งมีโอกาสเกิดได้ทั้งในที่ทำงาน และที่บ้าน ในชีวิตประจำวัน
       - ศึกษามาตรการความปลอดภัยที่มาควบคู่กับอุปกรณ์ทุกชนิด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
       - สวมแว่นป้องกันดวงตาเสมอ
       - สำหรับเด็กเล็กๆ ควรระวังไม่ให้เล่นของเล่นที่มีโอกาสเข้าตาได้ เช่น วัตถุมีคม ปลายไม้ ดินสอ ปืนอัดลม เป็นต้น
• จะใช้แว่นชนิดไหนป้องกัน
          เลนส์ที่มีคุณสมบัติป้องกันการกระแทกได้แก่ เลนส์ชนิดโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate lens) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความเหนียวและทนต่อแรงกระแทกได้สูง นอกจากนั้นเลนส์ชนิดนี้หากแตกก็จะไม่กระจายเป็นชิ้น เล็กๆที่จะเข้าสู่ดวงตาได้ เลนส์ชนิดนี้ราคาไม่แพง บางครั้งจะทำเป็นเลนส์กันแดดในตัว สามารถถามหาได้ตามร้านแว่นใหญ่ทั่วไป

ตัวอย่างแว่นที่ทำจาก Polycarbonate lens
การบริหารกล้ามเนิ้อตา (Eye Exercises)
การบริหารหรือการออกกำลังกล้ามเนื้อตาจำเป็นสำหรับบุคคลต่อไปนี้เท่านั้น
     1. ไม่สามารถโฟกัสภาพเมื่ออ่านหนังสือ
     2. มองเห็นภาพซ้อน (ในบางกรณี)
     3. ตาเข ไม่ว่าจะเขออกนอกหรือเข้าใน
     4. หลังรับการผ่าตัดดวงตา แพทย์จะใช้เพื่อช่วยคงการมองเห็นหรือช่วยให้ดวงตาตรง ไม่เขออก
     5. มีภาวะตาขี้เกียจ
         การบริหารกล้ามเนื้อดวงตามีหลายวิธี โดยสรุปมักจะประกอบด้วยการบริหารกล้ามเนื้อเล็กๆที่อยู่รอบดวงตาและทำหน้าที่กลอกดวงตาไปมาโดยการบริหารจะช่วยให้ฝึกให้การเคลื่อนไหวของดวงตา และการรับภาพที่สมองเป็นไปอย่างสัมพันธ์กัน ตัวอย่างการบริหาร เช่น
      - ใช้มือปิดตาข้างหนึ่ง และใช้ตาที่เหลือจ้องมองที่วัตถุที่ต่างๆ ใกล้ ไกล
เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
      - เปิดตาสองข้าง มือถือปลายดินสอหรือปากกายืดออกเท่าความยาวช่วงแขน บังคับดวงตาให้จ้องมองที่ปลายปากกาโดยให้เห็นเป็นจุดๆเดียว แล้วค่อยๆเคลื่อนปลายปากกาเข้าใกล้ดวงตาขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะเดียวกัน บังคับให้ดวงตาทั้งสองข้างมองตามมาและให้เห็นเป็นจุดเดียว ไม่ให้เกิดเป็นภาพซ้อนจนใกล้ดวงตามากที่สุด ทำเช่นนี้อย่างน้อย 10-20 ครั้งเป็นประจำทุกวัน เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อในการมองใกล้ และช่วยให้ดวงตาตรงไม่เขออก
อาหารบำรุงดวงตา
สารอาหารที่มีคุณค่ากับสายตา ช่วยป้องกันโรคตาได้ มีดังต่อไปนี้
     1. กลุ่มที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ป้องกันโรคจอตาเสื่อม โรคต้อกระจก ไม่เพียงเท่านั้น อาจป้องกันโรคอื่นได้อีก เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน และโรคมะเร็ง เป็นต้น สารอาหารที่มีปริมาณครบถ้วนเช่นนี้ไม่สามารถรับประทานจากอาหารได้อย่างเดียว จำต้องรับประทานเสริม สารเหล่านี้ได้แก่
      - วิตะมินซี วันละ 500 มิลลิกรัม
      - วิตะมินอี วันละ 400 IU
      - เบตาแคโรทีน วันละ 15 มิลลิกรัม
      - สังกะสี (zinc oxide) วันละ 500 มิลลิกรัม
      - ไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoid)
     2. กรดไขมันชนิด Omega-3 ช่วยรักษาอาการตาแห้ง และโรคหัวใจ หลอดเลือด ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง และป้องกันมะเร็งหลายชนิด เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของกรดไขมันอิสระสองชนิดคือ EPA และ DHA ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารเหล่านี้ได้จากปลาบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน ซึ่งควรรับประทานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
        นอกจากนั้นเราสามารถบริโภคสาร ALA ซึ่งร่างกายจะสามารถเปลี่ยนไปเป็น EPA และ DHA ได้เอง สาร ALA พบใน น้ำมัน flaxseed ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง เมล็ดวอลนัท เมล็ดฟักทอง
3. สาร lutein และ zeaxanthin เป็นกลุ่มแคโรทีนอยด์ซึ่งทำให้พืชมีสีเหลือง สารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคต้อกระจก และโดยเฉพาะโรคจอตาเสื่อมไม่เพียงป้องกันเท่านั้น แต่สามารถรักษาได้ด้วย
สารเหล่านี้มีมากในผักใบเขียว ควรได้รับ lutein 20 มิลลิกรัมต่อวัน และ zeaxanthin 6-10 20 มิลลิกรัมต่อวัน หรือสามารถรับประทานเป็นเม็ดเสริมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น